วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้



นอกจากคนไทยจะรู้จักสรรพคุณของว่านหางจระเข้เป็นอย่างดี หลายๆ ประเทศก็รู้จักนำว่านหางจระเข้มาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มานานหลายศตวรรษ อย่างประเทศจีนก็มีรายงานการใช้ว่านหางจระเข้ในการทำเป็นยาเช่นกัน

สรรพคุณของวุ้นว่านหางจระเข้ เป็นยาฆ่าเชื้อ ฝาดสมานแผล ห้ามเลือด ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อให้เจริญเติบโต ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรีย ได้ทดลองพบว่า ว่านหางจระเข้สามารถนำมาใช้รักษาแผลธรรมดา แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลที่เกิดจากการฉายรังสี ลดอาการอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค ป้องกันผิวไหม้เพราะแดด บำรุงผิวหน้า กำจัดฝ้า ยาระบาย แก้ไอ เจ็บคอ รักษามะเร็ง แก้พิษแมงกะพรุน ช่วยประสานกระดูก รักษาโรคตับและรักษาสมองผิดปกติ ด้วยสรรพคุณที่มากมายนี้เอง “ว่านหางจระเข้” จึงถูกขนานนามว่า “สมุนไพรมหัศจรรย์จากธรรมชาติ”

สารโพลียูโรไนด์และโพลีแซคคาไรด์ สารสำคัญที่ช่วยรักษาบาดแผลให้หายเร็วและยังช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ต้องใช้กระบวนการผลิตที่ดี (GMP) เท่านั้น ถึงจะคงตัวยาเหล่านี้ไว้ได้ ได้ทำการศึกษากับผู้ป่วย บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกจำนวน 13 ราย ที่มีบาดแผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 เมื่อได้ทาว่านหางจระเข้และตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบว่าแผลหายเร็วกว่าการทายาชนิดอื่น นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้แผลสะอาด และกระตุ้นเนื้อเยื่อที่เสียให้เจริญเติบโตขึ้นใหม่ได้เร็วขึ้น

บาดแผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ว่านหางจระเข้จะเป็นบาดแผลไหม้ไม่เกินระดับที่ 2

ระดับที่ 1 ผิวหนังไม่แตก
ระดับที่ 2 มีตุ่มพองและหนังแตก
ระดับที่ 3 ผิวหนังทุกชั้นถูกทำลายและเป็นแผลเปิด
ระดับที่ 4 ผิวหนังมีรอยไหม้ดำ

ว่านหางจระเข้จึงเป็นสมุนไพร มหัศจรรย์ที่ช่วยรักษาบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลที่เกิดจากการฉายรังสีได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในลักษณะ ของเครื่องสำอางได้ด้วยคือป้องกันผิวไหม้เพราะแดดและบำรุงผิว ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ทำให้ควบคุมคุณภาพผลิตในรูปแบบของเจล มีความเข้มข้นถึง 87.40% เนื้อเจลคงตัวนานและปราศจากการปนเปื้อนจุลินทรีย์ จึงเหมาะเป็นยาที่ควรมีไว้ประจำบ้าน

ขอบคุณข้อมูลจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์วิวัฒน์ วิสุทธิโกศล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ประโยชน์ของวิตามินบี

ยาวิตามินบีรวม (B-complex vitamins) 


หรือทางการแพทย์ไทยมักเรียกย่อว่า ยาบีโค(B-Co) เป็นชื่อเรียกสูตรตำรับยาที่ประกอบไปด้วยวิตามินบีที่มีปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นทั้งยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำชนิดรับประทาน และยาฉีด วิตามินบีรวมถูกจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ยาวิตามินบีรวมอาจแบ่งออกเป็น 2 หมวดตามรูปแบบยาแผนปัจจุบันดังนี้
1. ยาวิตามินบีรวมชนิดรับประทาน: มีวิตามินบีอย่างน้อย 8 ชนิดที่ให้ปริมาณยาต่อวัน ดังนี้

  • Thiamine (B1) ตั้งแต่ 0.9 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Riboflavin (B2) ตั้งแต่ 0.9 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Niacin (B3) ตั้งแต่ 12 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Pantothenic acid (B5) ตั้งแต่ 4 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Pyridoxine (B6) ตั้งแต่ 1 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Biotin (B7) ตั้งแต่ 20 ไมโครกรัมขึ้นไป
  • Folic acid (B9) ตั้งแต่ 300 ไมโครกรัมขึ้นไป
  • Cobalamin (B12) ตั้งแต่ 1.8 ไมโครกรัมขึ้นไป
  • 2. ยาวิตามินบีรวมชนิดฉีด: ประกอบด้วยวิตามินบีอย่างน้อย 4 ชนิดที่ให้ปริมาณยาต่อวัน ดังนี้
  • Thiamine (B1) ตั้งแต่ 0.9 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Riboflavin (B2) ตั้งแต่ 0.9 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Niacin (B3) ตั้งแต่ 12 มิลลิกรัมขึ้นไป
  • Pyridoxine (B6) ตั้งแต่ 1 มิลลิกรัมขึ้นไป

ในทางคลินิกได้กำหนดหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการใช้ยาวิตามินบีรวมได้กว้างๆเช่น
ใช้บำบัดอาการขาดวิตามินบีของร่างกายซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยด้วยโรค Crohn’s disease, Celiac disease (โรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่งที่ร่างกายแพ้โปรตีนชนิดที่ชื่อ Gluten) ทั้งนี้อาการจากขาดวิตามินบีสามารถแสดงออกและมีลักษณะต่างๆอาทิเช่น อ่อนเพลีย/ไม่มีแรง รู้สึกสับสน เกิดภาวะโลหิตจาง ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอ่อนแอ มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง เป็นต้น
ช่วยบำบัดอาการของโรคหัวใจเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งมักจะมีเหตุจากการขาดวิตามินบี 1 และอาจมีอาการของโรคเหน็บชาร่วมด้วย
บำบัดอาการของผู้ป่วยด้วยโรคเพลลากรา (Pellagra) ซึ่งมักมีอาการอักเสบของผิวหนัง ท้องเดิน/ท้องเสียเรื้อรัง และความจำเสื่อม มักพบในผู้ที่ขาดวิตามินบี 3 หรือ Niacin
ทั้งนี้การเลือกใช้ยาวิตามินบีรวมได้อย่างเหมาะสมนั้น ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ผู้รักษาเสียก่อน ด้วยมีหลายเงื่อนไขและหลายอาการโรคที่ต้องปรับขนาดการใช้ยากลุ่มนี้ ดังนั้นผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรทราบถึงเงื่อนไขดังกล่าวเช่น
มีประวัติแพ้ยาวิตามินบีรวมหรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาวิตามินบีรวมหรือไม่
มียาอื่นที่รับประทานอยู่ก่อนหน้านี้หรือไม่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ด้วยวิตามินหลายรายการรวมทั้งวิตามินบีรวมสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้
หากเป็นสตรีที่ตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรการได้รับวิตามินบีจะต้องปรับขนาดการใช้อย่างเหมาะสมจากแพทย์ ด้วยกลุ่มยาวิตามินบีสามารถส่งผ่านไปยังทารกได้
ผู้ป่วยด้วยมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งอัณฑะถือเป็นข้อห้ามใช้วิตามินบีรวมในขนาดสูง
มีภาวะการดูดซึมสารอาหารผิดปกติกรณีเช่นนี้แพทย์อาจต้องเปลี่ยนยาวิตามินบีรวมจากชนิดรับประทานมาเป็นชนิดฉีดแทน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยและเงื่อนไขด้านการรับประทานยาวิตามินบีรวม ระยะเวลาที่ต้องใช้ยานี้ของผู้ป่วยแต่ละบุคคลมีข้อแตกต่างกันออกไป ถึงแม้ยาวิตามินบีรวมจะเป็นกลุ่มยาที่ละลายได้ดีในน้ำและถูกขับออกมากับปัสสาวะ แต่การรับประทานผิดขนาดหรือรับประทานมากเกินไปล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายได้ทั้งสิ้น วิตามินบีรวมจัดอยู่ในประเภทยาอันตรายเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

วิตามินบีรวมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
วิตามินบีรวม
ยาวิตามินบีรวมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดและรักษาอาการขาดวิตามินบี
วิตามินบีรวมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาวิตามินบีรวมซึ่งคือการกล่าวถึงหน้าที่ของวิตามินบีแต่ละชนิดในวิตามินบีรวมดังนี้เช่น

  • วิตามินบี 1 และบี 2: ช่วยทำให้ร่างกายเปลี่ยนสารอาหารไปเป็นพลังงาน
  • วิตามินบี 1 ยังทำให้การทำงานของระบบประสาทมีประสิทธิภาพ
  • ส่วนวิตามินบี 2 ช่วยในการมองเห็น
  • วิตามินบี 3: ช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกายให้เป็นปกติโดยเพิ่มระดับ HDL cholesterol และช่วยควบคุมไม่ให้ LDL cholesterol และ Triglycerides สูงเกินปกติ
  • วิตามินบี 5: ช่วยควบคุมภาวะอารมณ์เครียดและความวิตกกังวล เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
  • วิตามินบี 6: ช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนสารอาหารไปเป็นพลังงาน ช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้เป็นอย่างดี การใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะช่วยส่งผ่านไปถึงทารกและทำให้การพัฒนาสมองของทารกเป็นไปอย่างปกติ
  • วิตามินบี 7: บำรุงเส้นผมป้องกันไม่ให้ผมร่วง บำรุงเล็บ ช่วยป้องกันอาการซึมเศร้าได้บ้าง
  • วิตามินบี 9: ช่วยบำรุงเม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์แข็งแรง การใช้ในหญิงตั้งครรภ์ช่วยป้องกันไม่ให้ทารกแรกคลอดขาดวิตามินชนิดนี้
  • วิตามินบี 12: ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาทให้เป็นปกติ และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงให้เจริญอย่างเป็นปกติและแข็งแรง

วิตามินบีรวมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาวิตามินบีรวมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
ยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยวิตามินบีชนิดต่างๆเช่น Vit B1 100 มิลลิกรัม + Vit B6 200 มิลลิกรัม + Vit B12 200 ไมโครกรัม/เม็ด
ยาฉีดที่ประกอบด้วยวิตามินบีต่างๆเช่น Vit B1 100 มิลลิกรัม + Vit B2 0.5 มิลลิกรัม + Vit B6 1 มิลลิกรัม + Niacinamide 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาน้ำชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยวิตามินบีชนิดต่างๆเช่น Vit B1 10 มิลลิกรัม + Vit B2 10 มิลลิกรัม + Vit B6 3 ไมโครกรัม + Vit B12 15 ไมโครกรัม + D-panthenol 5 มิลลิกรัม + L-lysine hydrochloride 50 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร
วิตามินบีรวมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยยาวิตามินบีรวมมีหลายสูตรตำรับในท้องตลาดยาบ้านเรา ปริมาณวิตามินบีที่เป็นส่วน ประกอบก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการรับประทานยาวิตามินบีรวมจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะคัดเลือกสูตรตำรับยาที่มีในสถานพยาบาลและให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยปกติแพทย์อาจสั่งจ่าย 1 - 3 เม็ด/แคปซูล/วันทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
อนึ่งสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ:
ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาวิตามินบีรวม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาวิตามินบีรวมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานวิตามินบีรวมสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาวิตามินบีรวมให้ตรงเวลา
วิตามินบีรวมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาวิตามินบีรวมขึ้นอยู่กับปริมาณส่วนผสมของวิตามินบีแต่ละชนิดซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้แตกต่างกัน ทั้งนี้อาจกล่าว ถึงอาการข้างเคียงของวิตามินบีรวมอย่างกว้างๆดังนี้เช่น ปวดท้อง พบอาการท้องเสียได้บ้าง อุจจาระมีสีคล้ำ มีผื่นคัน หลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก ปัสสาวะมีสีเหลือง เกิดภาวะหลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนแขน ขา) อุดตัน (อาการเช่น มือ-เท้าเย็น อาจเขียวคล้ำ ปวด)
มีข้อควรระวังการใช้วิตามินบีรวมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาวิตามินบีรวมเช่น
ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยาวิตามินบีรวม
ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
ห้ามใช้ยาที่มีสภาพลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
การเก็บวิตามินบีรวมชนิดฉีดในตู้เย็นอาจทำให้สีของผลิตภัณฑ์คล้ำลงโดยเฉพาะสูตรตำรับที่มี Riboflavin (B 2) เป็นองค์ประกอบ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยแต่อย่างใด และยังใช้ได้ตามปกติ
ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
ห้ามใช้ยาหมดอายุ
ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมวิตามินบีรวมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
วิตามินบีรวมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาวิตามินบีรวมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
สูตรตำรับวิตามินบีรวมที่มี Folic acid เป็นองค์ประกอบร่วมกับยา Fluorouracil (ยาเคมีบำบัด) อาจนำมาซึ่งผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่น เกิดภาวะโลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย ติดเชื้อได้ง่าย เส้นประสาทถูกทำลาย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ หนาวสั่น มีเลือดปนมากับอุจจาระ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย วิงเวียนและเป็นลม หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
การใช้วิตามินบีรวมร่วมกับยา Calcitriol จะต้องควบคุมระดับเกลือแคลเซียมและปริมาณฟอสเฟต (Phosphate) ในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม กรณีเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอาจสังเกตได้จากอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก การรับรสชาติเปลี่ยนไป ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย มีอาการคันตามผิวหนัง และเบื่ออาหาร หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาวิตามินบีรวมอย่างไร?
ควรเก็บยาวิตามินบีรวมภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
วิตามินบีรวมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาวิตามินบีรวมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ANB 100 Complex (เอเอนบี 100 คอมเพล็กซ์) ANB
Blackmores Multi B (แบลคมอร์ มัลติ บี) Blackmores
Beromin Forte (เบโรมิน ฟอร์ท) Condrugs
B.COM (บี.คอม) Siomond
Biotaplex-BC (ไบโอทาเพล็กซ์-บีซี) Kenyaku

บรรณานุกรม
http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/145#item-8858 [2015,Nov21]
https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/18199 [2015,Nov21]
http://www.acu-cell.com/bx.html [2015,Nov21]
http://www.healthline.com/health/symptoms-of-vitamin-b-deficiency#VitaminB95 [2015,Nov21]
http://www.healthline.com/health/symptoms-of-vitamin-b-deficiency#Symptoms1 [2015,Nov21]
https://en.wikipedia.org/wiki/Nicotinamide [2015,Nov21]
http://www.drugs.com/drug-interactions/multivitamin,super-b-complex-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Nov21]
http://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/lifestyle-guide-11/supplement-guide-niacin [2015,Nov21]
http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-853-pantothenic%20acid%20(vitamin%20b5).aspx?activeingredientid=853&activeingredientname=pantothenic%20acid%20(vitamin%20b5) [2015,Nov21]
http://www.webmd.com/drugs/2/drug-3387/vitamin-b-complex-oral/details/list-sideeffects [2015,Nov21]
http://www.drugs.com/pro/b-plex-100-injection.html [2015,Nov21]
http://www.drugs.com/drug-interactions/multivitamin-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Nov21]
วิกิโรควิกิยาสุขภาพเด็กสุขภาพผู้สูงอายุสุขภาพผู้หญิงและความงามเกร็ดสุขภาพสุขภาพทั่วไปเพศศึกษาBLOG



ประโยชน์ของวิตามินซี

วิตามินซี


          ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวิตามินซีกันก่อน “วิตามินซี” หรือ กรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) เป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ วิตามินซีมีประโยชน์มากมาย เช่นใช้รักษาและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และวิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย  นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย   ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน แต่ประโยชน์ของวิตามินซีที่กล่าวถึงกันมากคือป้องกันหวัด

วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ?

          จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันไม่สามารถป้องกันหวัดได้ และไม่มีผลลดความเสี่ยงในการเป็นหวัด ยกเว้นผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดได้ถึง 50% อย่างไรก็ตามพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันจะสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้ ขนาดวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทานเพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดคือ 1-3 กรัมต่อวัน และในผู้ที่ไม่เคยรับประทานวิตามินซีมาก่อน หากเป็นหวัดแล้วจึงเริ่มรับประทานวิตามินซี จะไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เลย

การดูดซึมวิตามินซี

          การดูดซึมของวิตามิซีขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไปในแต่ละครั้ง แต่การดูดซึมวิตามินซีมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึม กล่าวคือการรับประทานวิตามินซีปริมาณมากเกินจุดอิ่มตัวของการดูดซึม ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีไปใช้ได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การรับประทานวิตามินซีครั้งละ1,000-1,500 มิลลิกรัม พบว่าร่างกายจะดูดซึมวิตามินซีได้เพียง 50% นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดของวิตามินซีที่รับประทานต่อครั้งมีผลต่อการดูดซึม คือการรับประทานวิตามินซีขนาดสูงร่างกายจะดูดซึมวิตามินได้น้อยกว่าการรับประทานวิตามินซีขนาดต่ำ ดังนั้นการรับประทานวิตามินซีวันละหลายครั้งในขนาดที่ต่ำกว่า 1 กรัม จนครบขนาดที่แนะนำต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามินซีได้มากกว่าการรับประทานทั้งหมดในครั้งเดียว นอกจากนี้ปริมาณการดูดซึมวิตามินซียังอาจแตกต่างกันไปขึ้นกับรูปแบบและส่วนประกอบอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์วิตามินซีในท้องตลาดมีอะไรบ้าง?

          เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินซีได้เอง ส่วนใหญ่ร่างกายได้รับจากการรับประทานผักและผลไม้ แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วิตามินซีวางจำหน่ายอยู่หลากหลายขนาดและรูปแบบ ได้แก่

1. รูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน: มีขนาดตั้งแต่ 25 ถึง 1,000 มิลลิกรัม แต่วิตามินซีสำหรับผู้ใหญ่ที่นิยมมี 2 ขนาดคือ 500 และ 1,000 มิลลิกรัม โดยขนาด 500 มิลลิกรัม บางบริษัทจะทำให้อยู่ในรูปแบบ buffered ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบทั่วไปคือ วิตามินซีจะถูกปลดปล่อยออกจากเม็ดยาอย่างช้าๆ แต่ระดับวิตามินซีในกระแสเลือดเมื่อรับประทานรูปแบบ buffered ไม่แตกต่างจากรูปแบบเม็ดทั่วไปที่มีการปลดปล่อยทันที อย่างไรก็ตามรูปแบบ buffered จะระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ารูปแบบเม็ดที่มีการปลดปล่อยทันที จึงอาจเป็นผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ข้อเสียของรูปแบบเม็ดแบบนี้คือเม็ดยามีขนาดใหญ่ กลืนลำบาก

2. รูปแบบเม็ดอม: มีขนาด 25, 50, 100 และ 500 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยา แต่เนื่องจากวิตามินซีเป็นกรดเมื่ออมบ่อยๆ อาจทำให้ฟันกร่อนได้ เนื่องจากกรดทำให้เคลือบฟันบางลง

3. รูปแบบเม็ดเคี้ยว: มีขนาด 30 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับเด็ก ซึ่งมีการแต่งสีและรสของวิตามินซีให้น่ารับประทาน หากรับประทานในปริมาณมากๆ อาจทำให้ฟันผุได้ เนื่องจากวิตามินซีในรูปแบบนี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง

4. รูปแบบเม็ดฟู่: มีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม จะแตกต่างจากรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทานทั่วไปคือ ต้องนำเม็ดยาไปละลายน้ำก่อน เมื่อเม็ดยาสัมผัสกับน้ำ จะเกิดเป็นฟองฟู่ ก่อนรับประทานจึงควรรอให้ฟองหมดก่อน เนื่องจากฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้อืดแน่นท้อง ซึ่งรูปแบบเม็ดฟู่นี้เป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยาหรือไม่สามารถกลืนเม็ดยาขนาดใหญ่ได้

5. รูปแบบแคปซูล: มีขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีทั้งชนิดแคปซูลแข็งและแคปซูลนิ่ม โดยส่วนใหญ่การกลืนเม็ดแคปซูลทำได้ง่ายกว่ารูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน

6. รูปแบบสารละลายสำหรับฉีด: มีขนาด 500 มิลลิกรัม เป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำทุกวันหรือเพื่อป้องกันหวัด เพราะต้องให้แพทย์หรือพยาบาลฉีดยาให้

วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) และ เกลือของกรดแอสคอร์บิก (mineral ascobate)

          เกลือของกรดแอสคอร์บิกมีสมบัติเป็น buffered มีความเป็นกรดน้อยกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก จึงมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ากรดแอสคอร์บิก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น เคยมีอาการมวนท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานวิตามินซี หรือท้องเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมและความคงตัวของวิตามินซี เกลือของกรดแอสคอร์บิกที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ โซเดียม แอสคอร์เบท (sodium ascorbate) แคลเซียม แอสคอร์เบท (calcium ascorbate) โพแทสเซียม แอสคอร์เบท (potassium ascorbate) แมกนีเซียม แอสคอร์เบท (magnesium ascorbate) ซิงค์ แอสคอร์เบท (zinc ascorbate) โมลิบดินัม แอสคอร์เบท (molybdenum ascorbate) โครเมียม แอสคอร์เบท (chromium ascorbate) และ แมงกานีส แอสคอร์เบท (manganese ascorbate) เป็นต้น แต่การเลือกใช้ควรคำนึงถึงสภาวะหรือโรคประจำตัวของผู้บริโภค เนื่องจากเกลือต่างๆ นี้จะถูกดูดซึมไปพร้อมกับวิตามินซีด้วย ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังในการรับประทาน เช่น โซเดียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือต้องจำกัดปริมาณโซเดียม หรือกรณี โพแทสเซียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังในผู้ที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น

วิตามินซีและไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflavonoids)

           ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นวิตามินซีจากธรรมชาติ นอกจากวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกแล้ว ในผลิตภัณฑ์ยังมีส่วนผสมของสารประกอบจากธรรมชาติอื่นคือ ไบโอฟลาโวนอยด์ จากการศึกษาพบว่าไบโอฟลาโวนอยด์มีผลเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี อย่างไรก็ตามบางการศึกษายังไม่พบประโยชน์ของไบโอฟลาโวนอยด์ในการช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี

ความแตกต่างระหว่างวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกและวิตามินซีเอสเทอร์

          วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกโดยทั่วไปมีสมบัติเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ส่วนวิตามินซีเอสเทอร์ เช่น แอสคอร์บิล ปาล์มิเตต (ascorbyl palmitate) เป็นรูปแบบที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีข้อดีคือทำให้วิตามินซีดูดซึมทั้งในลำไส้และซึมผ่านผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยังมีความคงตัวดีกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก  ปัจจุบันนิยมใช้เตรียมเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกทั้งบริเวณผิวหนังและใบหน้า

เอสเทอร์-ซี (Ester-C®) และวิตามินซีเอสเทอร์

          หลายคนคงอาจสับสนว่า Ester-C® และวิตามินซีเอสเทอร์ เป็นวิตามินซีรูปแบบเดียวกัน แต่ที่จริงแล้ว Ester-C® คือผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ประกอบด้วย แคลเซียม แอสคอร์เบท เป็นส่วนใหญ่ในตำรับ ซึ่งวิตามินซีในผลิตภัณฑ์ Ester-C® จัดว่าเป็นวิตามินซีชนิดละลายน้ำ แต่วิตามินซีเอสเทอร์เป็นวิตามินซีละลายในไขมันและมีสมบัติดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อข้างต้น

สรุป

          จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์วิตามินซีมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่นิยมใช้สำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัด คือรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน แคปซูล และเม็ดฟู่ ที่มีปริมาณวิตามินซีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบหรือขนาดอื่นอาจไม่สะดวกต่อการรับประทาน และนอกจากนี้ขนาดวิตามินซีที่เหมาะสำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดเป็นขนาดที่ค่อนข้างสูงคือ 1-3 กรัมต่อวัน ถ้าเลือกผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่มีปริมาณวิตามินซีน้อยอาจต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นการเลือกรับประทานวิตามินซีควรพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการแต่ละบุคคลและวัตถุประสงค์ของการรับประทาน

เอกสารอ้างอิง

1. Douglas RM, Hemila H, Chalker E, Treacy B. Vitamin C for preventing and treating the common cold. Cochrane Database Syst Rev 2007; (3):CD000980.

2. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug information handbook. 19th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2010-11.

3. Pubmed health. Vitamin C. Available at : http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMH0003056/ . Accessed July 19 2014.

4. Nyyssonen K, Poulsen HE, Hayn M, Agerbo P, Porkkala-Sarataho E, Kaikkonen J, et al. Effect of supplementation of smoking men with plain or slow release ascorbic acid on lipoprotein oxidation. Eur J Clin Nutr 1997; 51(3):154-163.

5.  Viscovich M, Lykkesfeldt J, Poulsen HE. Vitamin C pharmacokinetics of plain and slow release formulations in smokers. Clin Nutr 2004; 23(5):1043-1050.

6. มังกร ประพันธ์วัฒนะ. สาระ-ปัน-ยา 3. นนทบุรี. สภาเภสัชกรรม. 2555.

7. Vinson JA, Bose P. Comparative bioavailability to humans of ascorbic acid alone or in a citrus extract. Am J Clin Nutr 1988; 48(3):601-604.

8. Carr AC, Vissers MC. Synthetic or food-derived vitamin C-are they equally bioavailable? Nutrient 2013; 5(11):4284-4304.

9. Johnston CS, Luo B. Comparison of the absorption and excretion of three commercially available sources of vitamin C. J Am Diet Assoc 1994; 94(7):779-781.

10. Austria R1, Semenzato A, Bettero A. Stability of vitamin C derivatives in solution and in topical formulations. J Pharm Biomed Anal 1997; 15(6):795-801.

11.  Linus Pauling Institute [Internet]. The bioavailability of different forms of vitamin C (ascorbic acid); c2000-14 [cited 2014 Jul 29]. Available from: http://lpi.oregonstate.edu/infocenter/vitamins/vitaminC/vitCform.html.

12. Vitamin C [Internet]. Available at: http://www.exrx.net/Nutrition/Antioxidants/VitaminC.html. Accessed March 2, 2011.